วันจันทร์ที่ 11 มกราคม พ.ศ. 2553

เมืองฟ้าแดดสงยาง เป็นเมืองที่เจริญรุ่งเรือง มีความอุดมสมบูรณ์ผู้ปกครองเมืองคือพญาฟ้าแดด มีพระมเหสีชื่อ “พระนางจันทาเทวี”(เขียวค่อม) มีพระธิดาชื่อ “พระนางฟ้าหยาด” เป็นผู้ที่มีพระสิริโฉมงดงามมาก เป็นที่หวงแหนของพระราชบิดา-มารดา

พญาฟ้าแดดให้ช่างสร้างปราสาทเสาเดียวไว้กลางน้ำ โดยใช้ศิลาแลงในการก่อสร้างบริเวณนี้ปัจจุบันเรียกว่า “โนนฟ้าแดด” นอกนั้นยงมีการขุดสระไว้รอบเมือง มีคูค่ายและเชิงเนิน มีหอรบอย่างแข็งขัน สระที่ขุดไว้ในปัจจุบันเป็นหนองน้ำสาธารณะ เมืองลูกหลวงของเมืองฟ้าแดดคือ เมืองสงยาง มอบให้อนุชาชื่อ พญาอิสูรย์ (เจ้าฟ้าระงึม) เป็นผู้ครองเมือง เมืองทั้งสองห่างกันประมาณ 2 กิโลเมตร เลยรวมเรียกว่า “เมืองฟ้าแดดสงยาง”

เมืองเชียงโสม เป็นเมืองหนึ่งที่มีความใกล้ชิดกับเมืองฟ้าแดด มีพญาจันทราชเป็นผู้ปกครอง

จัดให้มีเทศกาลเล่นหมากรุก และตีหิงคลี ใครแพ้-ชนะ ก็จะส่งส่วยกินเมืองตามประเพณี ครั้งหนึ่งพญาจันทราชได้ออกล่าสัตว์ และต่อไก่ มุ่งหน้าลงทางใต้ จึงถึงหนองเลิง ได้หลงทางเข้าไปในอุทยานของนางฟ้าหยาด เมื่อพญาจันทราชพบหน้านางฟ้าหยาดก็ชอบพอ

ต่อมาพญาจันทราชเดินทางกลับเมืองเชียงโสมได้มอบให้ขุนเล็ง ขุนดาน นำเครื่องบรรณากาารมาสู่ขอนางฟ้าหยาด แต่ไม่สำเร็จ

พญาจันทราช จึงได้เคลื่อนขบวนทัพมาตีเมืองฟ้าแดดสงยาง โดยขอความช่วยเหลือไปยังเมืองเชียงสง เชียงสา เชียงเครือ ท่างาม น้ำดอกไม้ สาบุตรกุดอก ให้ส่งกองทัพมาช่วยฝ่ายพญาฟ้าแดด เมื่อทราบข่าวก็ขอความช่วยเหลือไปยังผู้ปกครองเมืองสงยางผู้เป็นอนุชาให้มาช่วยรบ เมื่อเกิดสงครามมีคนล้มตายเป็นจำนวนมาก พญาจันทราชสิ้นพระชนม์บนคอช้าง แม่ทัพนายกองเห็นดังนั้นก็ยอมแพ้

นางฟ้าหยาดเมื่อทราบข่าวก็มีความเสร้าโศกจนสิ้นชีวิตบนปราสาทกลางน้ำ ต่อมาพญาฟ้าแดดก็ให้ นำศพนางฟ้าหยาด และศพพญาจันทราช บรรจุลงในหีบทองคำ ตกแต่งอย่างสมพระเกียรติ และให้สร้างเจดีย์คู่เป็นอนุสรณ์ไว้ (ปัจจุบันอยู่ทางทิศตะวันตกของโนนเมืองฟ้าแดดสงยาง)

ก่อนที่จะบรรจุอัฐิของนางฟ้าหยาดกับพญาจันทราช ได้รับสั่งให้ช่างหลอพระพุทธรูปและเทวรูปทองคำ จำนวน 84,000 องค์ ประกาศให้ชาวเมืองฟ้าแดดสงยางหล่อหรือสร้างพระพุทธรูปทุกครัวเรือน โดยให้หล่อหรือสร้างด้วยทองคำ อิฐ หิน หรือดินเผาแล้วแต่ศรัทธา แล้วบรรจุไว้ในเจดีย์คู่ เพื่อเป็นการบูชาและล้างบาปที่กระทำไว้

จากนั้นได้มอบให้พญาธรรมไปครองเมืองเชียงโสม ส่งสวยแก่เมืองฟ้าแดดเป็นประจำทุกปี

จากตำนานที่เป็นเรื่องเล่าขานสืบต่อกันมาหลายชั่วอายุคน อาจจะมีความคลาดเคลื่อนแต่ก็คงแฝงไว้ด้วยความจริงไว้บ้าง

จังหวัดกาฬสินธุ์

ชายชรากับลังเหล็ก
กาลครั้งหนึ่ง ยังมีคุณลุงอยู่ท่านหนึ่ง ในช่วงวัยหนุ่มคุณลุงท่านนี้เป็นหัวหน้าคนงานอยู่ในเหมืองทองคำมีรายได้ดีมาก แต่คุณลุงท่านนี้ไม่เคยเก็บเงินเลยมีเท่าไรก็ใช้หมด เนื่องจากคุณลุงเป็นคนจิตใจดีใครมาหยิบยืมก็ให้ เลี้ยงเพื่อนฝูงตลอด คุณลุงมีเพื่อนเยอะมาก จนกระทั่งคุณลุงท่านนี้เกษียณอายุจากการทำงาน ปรากฏว่าไม่มีเงินเหลือเลยจากชีวิตการทำงานอันยาวนาน คุณลุงมีลูกอยู่ 5 คน เมื่อคุณลุงไม่มีเงินก็จำเป็นต้องไปอาศัยอยู่บ้านลูกๆ ทั้ง 5 คน
วันจันทร์ ก็ไปอยู่บ้านลูกสาว ก็ถูกลูกเขยพูดจากระทบกระเทียบ เช่น "ทำไมคุณพ่อคุณไม่ไปบ้านลูกคนอื่นบ้างนะ ผมจะทำอะไรก็อึดอัดจริงๆ "
วันอังคาร ก็ไปอยู่บ้านลูกชาย ก็ถูกหลาน และลูกสะใภ้กระทบกระเทียบ เช่น "รำคาญคุณปู่จังเลยกับข้าวที่หนูชอบดูสิคุณปู่ทานหมดเลย ทำไมคุณปู่ไม่ไปบ้านอื่นบ้าง" เป็นเช่นนี้ตลอด คุณลุงก็เปลี่ยนไปอยู่บ้านลูกคนนั้นทีคนนี้ที ก็ถูกลูกบ้าง ลูกเขยบ้าง ลูกสะใภ้บ้าง หลานบ้างพูดจาถากถางอยู่ตลอด แต่คุณลุงก็ต้องทน เพราะคุณลุงไม่มีเงินเก็บแม้แต่บาทเดียว
อยู่มาวันหนึ่ง คุณลุงตัดสินใจเรียกลูกๆ ทุกคนมาแล้วบอกว่า "พ่อจะไม่อยู่สัก 2 ปีนะลูก เพราะเพื่อนพ่อที่เป็นเจ้าของเหมืองทองคำมันเขียนจดหมายมาขอร้องให้พ่อไปช่วยงานที่เหมืองทองคำของมัน พ่อจำเป็นต้องไปช่วยเขาจริงๆ" ลูกๆ ได้ฟังดังนั้นก็ดีใจสนับสนุนเพื่อให้คุณลุงท่านนี้ไปให้พ้นๆ จะได้ไม่เป็นภาระอีกต่อไป
เมื่อครบ 2 ปี คุณลุงท่านนี้ก็กลับมาพร้อมกับลังเหล็กใบใหญ่ 1 ใบ ไปไหนแกก็ลากไปด้วย ลูกๆ ก็พากันแปลกใจและถามว่า "ลังอะไร" คุณลุงตอบว่า "เป็นสมบัติชิ้นสุดท้ายที่ได้มาจากเหมืองทองคำของเพื่อน ถ้าใครดูแลพ่อจนถึงวาระสุดท้ายก็จะมอบสมบัติในลังเหล็กให้ทั้งหมด" ปรากฏว่า ลูกๆ พากันตื่นเต้น ต่างอาสามาดูแลคุณพ่อกันยกใหญ่
วันจันทร์ คุณลุงก็อยู่กับลูกสาวคนโต ลูกเขยกับหลานก็พากันเอาใจบีบนวดให้ หาของกินดีๆ มาให้ แต่ยังไม่ทันไรลูกชายคนที่สองก็มาตามให้ไปอยู่ด้วย และก็เช่นกันยังไม่ทันไร ลูกสาวคนที่สาม ก็มาตามให้ไปอยู่ด้วยอีก ปรากฏว่าลูกๆ ทั้ง 5 คน ของคุณลุงต่างแย่งกันเอาใจและปรนนิบัติคุณลุงท่านนี้อย่างดี แต่เวลาไปไหนคุณลุงก็จะลากลังเหล็กใบนี้ไปด้วยตลอด
เวลาผ่านไป 7 ปี คุณลุงท่านนี้เสียชีวิตลง หลังงานพิธีศพลูกๆ ทุกคนพากันมานั่งล้อมลังเหล็กใบนี้เพื่อแบ่งสมบัติกัน ลูกสาวคนโตเป็นคนเปิดฝาลังเหล็ก พบว่ายังมีผ้าสีขาวปิดอยู่อีกชั้นหนึ่ง และมีจดหมายฉบับหนึ่งวางอยู่ ลูกสาวคนโตก็เปิดอ่านให้น้องๆ ฟัง เนื้อความในจดหมายเขียนไว้ว่า
นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า อย่าประมาทและอย่าคาดหวังว่าใครจะเลี้ยงดูเรา ให้เร่งเก็บออมเสียตั้งแต่เนิ่นๆ จะได้มีชีวิตบั้นปลายที่สุขสบาย
ได้ฟังนิทานเรื่องนี้ทีไรให้รู้สึกสะท้อนใจทุกครั้ง และไม่เคยคิดว่า เป็นเพียงนิทานเพราะเหตุการณ์แบบนี้อาจเกิดขึ้นได้กับทุกคนที่ไม่เตรียมเก็บออมเงินเสียตั้งแต่เนิ่นๆ ....พึ่งพาใครไหนเรา..จะดีเท่าพึ่งพาตัวเราเอง

วันศุกร์ที่ 8 มกราคม พ.ศ. 2553

มารยาทในการอ่าน

มารยาทในการอ่าน
และการสร้างนิสัยในการอ่าน
ผลการเรียนรู้
๑.รู้และเข้าใจหลักในการใช้มารยาทในการอ่านที่ถูกต้อง
๒.เข้าใจถึงประโยชน์ของการสร้างนิสัยการอ่าน
๓.มีมารยาทและนิสัยรักการอ่านอย่างสม่ำเสมอ
ในปัจจุบันเป็นสิ่งจำเป้นอย่างยิ่งในการพัฒนาตนเอง และพัฒนาสังคมและเป็นทักษะที่เกี่ยวข้องกับการดำรงชีวิตของมนุษย์เป็นอย่างมาก ดังนั้น การรู้จักมารยาทในการอ่านและตระถึงการประพฤติตนในการอ่านให้มีความระมัดระวังและมีมารยาทที่ดีจะได้รับการยกย่องในสังคมว่าเป็นผู้มีการศึกษา และมีอารยธรรมที่เหมาะสม นอกจากนั้นยังรวมไปถึงการสร้างนิสัยรักการอ่าน อ่าให้มากและมีความสม่ำเสมอจะทำให้เป็นผู้มีความสามารถ มีสมองอันกว้างไกล รู้จักพัฒนาตนเอง พัฒนาสังคมตลอดไป


๑.มารยาทในการอ่าน
การอ่านในชีวิตประจำวัน มีทั้งการอ่านในใจและอ่านออกเสียง การอ่านจึงต้องมีความระมัดระวังในการปฏิบัติตน เช่น การจัดหาที่นั่งให้สะดวกสบายและถูกสุขลักษณะ อ่านหนังสือในระยะที่เหมาะสมกับสายตา นอกจากนั้นจึงต้องคำนึงถึงมารยาทในการอ่านอีกด้วย ข้อพึงปฏิบัติและมารยาทการอ่านที่สำคัญ ดังนี้
(๑)ไม่อ่านออกเสียงดังจนรบกวนผู้อื่น
(๒) ออกเสียงถูกต้องชัดเจน ตามอักขรวิธี
(๓) กรณีอ่านหนังสือในห้องสมุด ต้องไม่ส่งเสียงหรือทำเสียงดังรบกวนผู้อื่น
(๔) เลือกอ่านหนังสือที่มีประโยชน์ต่อตนเองและสังคม
(๕) อ่านอย่างมีวิจารณญาณ มีเหตุผล ไม่หลงเชื่อในสิ่งงมงายไร้เหตุผล
(๖) ระมัดระวังในการถือหนังสือมิให้เกิดความเสียหาย
(๗) ถ้าต้องการเรื่องหนึ่งเรื่องใดจากหนังสือ อาจเพื่อนำไปเป็นหลักฐานอ้างอิงควรถ่ายสำนวนไว้ ไม่ควรฉีกออกไปจากเล่ม
(๘) การแสดงความคิดเห็นในการอ่านต้องมีเหตุผล ไม่มีอคติในการอ่าน
(๙) เมื่อนำเนื้อหาส่วนหนึ่งส่วนใดจากเรื่องที่อ่านไปใช้อ้างอิงในงานเขียน เช่น รายงานควรใส่อ้างอิงถูกต้องตามหลักการ เพื่อเป็นการให้เกียรติผู้เขียน
(๑๐) ถ้าบังเอิญทำหนังสือเสียหาย ควรซ่อมหนังสือให้ถูกต้องตาม ซ่อมหนังสือเพื่อมิให้หนังสือชำรุดยิ่งขึ้น
๒.การสร้างนิสัยรักการอ่าน
การปลูกฝังนิสัยรักการอ่าน ต้องเริ่มตั้งแต่วัยเด็ก โดยผู้ปกครองผู้ใหญ่ในบ้าน ครูอาจารย์ ตลอดจนการสื่อต่างๆ ในสังคมควรช่วยส่งเสริม การเลือกหนังสือที่เหมาะสมกับวัยของผู้เรียนแต่ละระดับ ย่อมมีส่วนจูงใจให้เด็กอยากอ่านอยากรู้อยากเห็น อยากค้นคว้าหาความรู้เพิ่มเติมเพื่อจะได้เป็นนักอ่านที่ดีตลอดไป
ในวัยแรกที่เริ่มหัดอ่านนั้น ผู้ใหญ่อาจเร้าความสนใจด้วยหนังสือที่มีภาพประกอบสวยๆ หนังสือการ์ตูนนิทานที่สนุกสนานมีภาพประกอบ หรือเมื่อเริ่มโตขึ้นเริ่มมีหนังสือสารคดี นวนิยาน เรื่องสั้น ที่ตรงกับความสนใจ ทำให้เขาเกิดความรู้สึกว่าหนังสือนั้นมีประโยชน์ มีคุณค่า และมีความหมายต่อเขามาก การเลือกหนังสือเข้าห้องสมุดให้เหมาะสมกับวัยผู้เรียน จะมีส่วนอย่างมากในการจูงใจให้เด็กเข้าห้องสมุด และหยิบหนังสือมาอ่านจนเกิดความเคยชินกับการอ่าน หนังสือที่เหมาะกับวัยและรสนิยมของเด็กจะช่วยให้เกิดความรักและมีความสุขกับการอ่านหนังสือ เมื่อเขาเติบโตขึ้นก็ควรได้รับการปลูกฝังให้รักการอ่านด้วยตนเอง ดังนี้
(๑) ร่วมกิจกรรมส่งเสริมการอ่าน เช่น อ่านแล้วนำเรื่องมาเล่าต่อ ขณะที่อ่านควรบันทึกชื่อหนังสือ ชื่อผู้แต่ง แนวคิดสำคัญของเรื่องและคุณค่า ฯลฯ ลงในบัตรทุกครั้ง (๒) จดบันทึก ข้อความ ถ้อยคำ เรื่องราว ข้อคิด ความรู้ที่มีประโยชน์ หรืออาจลืมได้ง่าย เก็บไว้เพื่อเตือนความจำหรือแบบให้ศึกษาค้นคว้าเพิ่มเติมได้
(๓) ใช้พจนานุกรมและสารานุกรมช่วยในกรณีที่พบถ้อยคำ สำนวน หรือคำศัพท์ยากที่ไม่เข้าใจความหมาย หรือต้องการตรวจสอบความถูกต้อง
(๔) สำรวมสมาธิในการอ่าน เพื่อจับสาระสำคัญ หรือสารประโยชน์อื่นๆ ตามจุดประสงที่ตั้งไว้
(๕) ปรับอารมณ์ให้สอดคล้องกับข้อเขียน เพื่อสร้างจินตนาการและความเข้าใจให้ลึกซึ้งขึ้น
(๖) รู้จักลักษะเฉพาะของวรรณกรรม เข้าใจศิลปะของภาษาในคำประพันธ์ รวมทั้งถ้อยคำโวหารในงานนั้น
(๗)สะสมประสบการณ์และความรู้เชิงภาษาให้กว้างขวางและมากพอจนสามารถเข้าใจเรื่องราวที่อ่านได้อย่างรวดเร็ว รับรสจากการอ่านได้อย่างซาบซึ้ง
๓.๑ แนวทางพัฒนาทักษะการอ่าน
การอ่านเป็นสิ่งที่ทำได้ไม่ยาก แต่คนเป็นจำนวนมากไม่ค่อยรักการอ่าน นักเรียนซึ่งอยู่ในวัยเรียน จะได้รับความรู้จากการอ่านเป็นส่วนใหญ่ จึงต้องฝึกฝนตนให้เป็นนักอ่านมีความอยากอ่าน จนติดเป็นนิสัยรักการอ่านไปตลอดชีวิต
แนวทางพัฒนาทักษะในการอ่าน ควรดำเนินการ ดังนี้
(๑) สร้างนิสัยในการอ่านด้วยวิธีง่ายๆ
เริ่มต้นอ่านหนังสือที่ตนชอบด้วยการซื้อเป็นสมบัติส่วนตนหรือเข้าห้องสมุดเมื่อมีเวลาว่าง
อ่านหนังสือทุกประเภทในเวลาว่าง นอกเหนือจากหนังสือเรียน หรือหนังสือที่ชอบ
อ่านประกาศต่างๆ ในสถานที่ที่เข้าไปติดต่อ
(๒) เข้าร่วมกิจกรรมอ่านออกเสียง อ่านบทร้อยกรอง ร้อยแก้ว ความเรียง เช่น
อ่านข่าว เล่านิทาน อ่านทำนองเสนาะ ฯลฯ เพื่อเพิ่มทักษะการอ่านออกเสียงให้ถูกต้อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเว้นวรรคตอน การอ่านคำควบกล้ำ ขณะที่อ่านควรใช้น้ำเสียงมีชีวิตชีวาตามเนื้อหาที่อ่าน
(๓)สะสมข้อความประทับใจที่อ่านพบ ไว้ใช้ในโอกาสที่เหมาะสมด้วยการบันทึกลงบัตรและเก็บสะสมบัตรไว้ใช้ต่อไป
(๔) บันทึกผลการอ่านทุกครั้ง ตั้งแต่ที่มาของหนังสือ สาระสำคัญของเรื่อง ความเห็นของผู้อ่าน
(๕) อ่านหนังสือให้มากและรู้จักเลือกหนังสือที่มีคุณค่า เพิ่มพูนความรู้และคุณธรรมของตนเอง
(๖) สร้างบรรยากาศการอ่านให้เป็นที่น่าพึงพอใจ หาที่นั่งที่สบาย อากาศดี แสงสว่างพอเพียง และไม่มีเสียงรบกวน
(๗) พยายามอ่านหนังสือทุกวัน ทั้งหนังสือประเภทที่ชอบข่าวสารต่างๆ ในหนังสือพิมพ์ที่ช่วยให้ผู้อ่านทันโลก
(๘) ฝึกฟัง เพราะการฟังเป็นพื้นฐานของการอ่าน ถ้าฟังการวิจารณ์เรื่องที่เรากำลังอ่าน จะช่วยให้ทัศนะในเรื่องที่อ่านกว้างขึ้น
(๙) เมื่อจิตใจ ท้อแท้ เบื่อหน่าย เครียด สมองทำงานหนัก ควรอ่านหนังสือประเภทขบขัน หนังสือประเภทให้ความเพลิดเพลินทางปัญญาและอารมณ์ หนังสือชี้ชวนดูโลกในแนวใหม่หรือให้สัจธรรม จะช่วยขจัดความรู้สึกอันไม่พึงปรารถนาได้ และช่วยให้จิตใจสดชื่นเห็นความงามในชีวิต ช่วยให้กำลังใจเข้มแข็งและความรู้สึกรักการอ่านช่วยให้มีความสุขได้
(๑๐) เมื่อตอบคำถามหรือสนองความอยากรู้อยากเห็นของตนไม่ได้ด้วยวิธีอื่นๆมราเหมาะสม ควรอ่านหนังสือเพื่อตอบคำถามเหล่านั้น เมื่ออ่านไปมากๆ ก็จะพบคำตอบทำให้เป็นผู้รักการอ่าน
(๑๑) เมื่ออ่านหนังสือหรือพัฒนาจนถึงขั้นแตกฉาน ก็จะเกดความรู้สึกรักที่จะอ่านหนังสือให้มากขึ้น การอ่านได้มากๆ ต้องฝึกอ่านเร็ว ต้องมีสมาธิแน่วแน่ในการอ่าน ตาและสมองต้องอยู่กับสิ่งที่เราอ่าน เมื่อมีสมาธิจะอ่านได้เร็ว รู้เรื่อง และจับประเด็นได้ ก็จะยิ่งรู้สึกรักที่อ่านมากขึ้น ซึ่งจะช่วยพัฒนาการอ่านได้มากยิ่งขึ้น
๓.๒ การเสริมสร้างนิสัยรักการอ่าน
การเสริมสร้างลักษณะนิสัยรักการอ่าน สามารถทำได้โดยวิธีการ ดังนี้
(๑) รักการอ่านเป็นชีวิตจิตใจ
ทุกครั้งที่มองเห็นหนังสือหรือวัสดุการอ่านใดก็ตาม ขอให้นักเรียนสร้างความรู้สึกว่าเป็นเพื่อนที่ดี เป็นสิ่งที่มีคุณค่า สมควรอ่าน ยิ่งอ่านยิ่งมากก็ทวีประโยชน์แก่ตนเอง ยิ่งกว่านั้นนักเรียนทราบหรืไม่ว่า ผู้ที่ประสบความสำเร็จในชีวิตทั้งในอดีตและปัจจุบัน ส่วนใหญ่จะคุณสมบัติ ที่เหมือนกันทุกประการหนึ่ง คือเป็นผู้ที่รักการอ่าน หากต้องการที่จะประสบความสำเร็จ ก็ขอให้เริ่มอ่านและการอ่านตั้งแต่บัดนี้
(๒) สร้างนิสัยใฝ่รู้
เมื่อเกิดความรู้สึกที่ดีต่อการอ่านแล้ว จะต้องมีความกระตือรือร้นที่จะแสวงหา
ความรู้สึกอยู่เสมอ และคิดเสมอว่าความรู้เกิดขึ้นและเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ดังนั้น จึงต้องเอาใจใส่ติดตามเป็นประจำ มิฉะนั้นจะเป็นคนล้าหลัง นอกจากนั้นต้องรู้จักแสวงหาความรู้ได้โดยตนเอง ทั้งในและนอกโรงเรียน ความรู้ดังกล่าวอาจเป็นความรู้เกี่ยวกับเรื่องที่กำลังเรียน และความรู้โดยทั่วไปที่จะช่วยเสริมให้เป็นคนรอบรู้ด้วย
๓) เตรียมพร้อมทุกด้าน
ก่อนการอ่านทุกครั้งที่สำรวจความพร้อมของตนด้วยว่ามีมากน้อยเพียงใด ความพร้อมที่กล่าวถึงนี้หมายรวมถึงความพร้อมทางกาย ทางใจ และสภาพแวดล้อม
(๑) ความพร้อมทางกาย ได้แก่ สุขภาพดี ไม่มีปัญหาด้านสายตา หรือหากมีปัญหาก็ควรปรึกษาแพทย์
(๒) ความพร้อมทางใจ ได้แก่ ต้องมีจุดมุ่งหมายแน่ชัดในการอ่านว่าอ่านข้อความนี้เพื่ออะไร เพื่อความรู้ เพื่อสอบ หรือเพื่อความบันเทิง เป็นต้น นอกจากนั้นต้องมีสมาธิในการอ่านปราศจากความกังวลใดๆ
(๓) ความพร้อมทางสภาพแวดล้อม หมายถึง ควรเลือกอ่านในสถานที่ที่เหมาะกับการอ่าน บรรยากาศดี แสงสว่างเพียงพอ และปราศจากเสียงรบกวน แต่หากไม่สามารถหาสภาพแวดล้อมที่ดีพร้อมได้ก็มิใช่ว่าจะไม่ต้องอ่าน เพราะความจริงที่สำคัญมากในการอ่านคือสมาธิ หากผู้มีสมาธิดีแล้ว ไม่ว่าจะอยู่ในสภาพแวดล้อมใดย่อมไม่หวั่นไหวและสามารถอ่านได้อย่างมีประสิทธิภาพ
๔) จัดสรรเวลาในการค้นคว้า
การแบ่งเวลาไว้สำหรับศึกษาค้นคว้าและพัฒนาตนเองเป็นเร่องที่สำคัญ
หากเป็นไปได้ควรหาช่วงเวลาที่ตนเห็นว่าเหมาะสม โดยควรกำหนดไว้ให้ค้นคว้าทุกวันเพื่อความต่อเนื่องเมื่อถึงเวลาก็จะเกิดความพร้อมที่จะค้นคว้า ในที่สุดก็จะกระทำจนเป็นนิสัย
สำหรับนักเรียนนั้น การแบ่งเวลาเพื่อการศึกษาค้นคว้าและพัฒนาตนเอง อาจทำได้ ๒ ลักษณะ คือ (1) การแบ่งเวลาในการทบทวนทำความเข้าใจกับบทเรียน นักเรียนต้องพิจารณาว่าควรใช้เวลาดูหนังสือในช่วงใดที่จะดีที่สุด คือมีสมาธิในการอ่านและทำความเข้าใจได้ดี
(๒) การศึกษาหาความรู้เพิ่มเติมด้วยตัวเอง นักเรียนต้องกำหนดว่าใช้เวลาช่วงใด อาจใช้เวลาที่อยู่ในโรงเรียนเข้าห้องสมุดเพื่อศึกษาค้นคว้าเพิ่มเติม หรืออาจจะไปใช้บริการห้องสมุดจากหน่วยงานอื่นก็ได้ หากนักเรียนสนใจหนังสือบางเล่มเป็นพิเศษก็อาจชี้อ่านเพื่อเพิ่มพูนความรู้ด้วยตนเอง
๕) นำความรู้ให้เกิดประโยชน์
ความรู้ที่สะสมได้จากการศึกษาค้นคว้า ควรจะนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ ทั้งในการเรียนและชีวิตประจำวัน เพราะยิ่งนำความรู้มาใช้มากเพียงใด ก็จะจะยิ่งทำให้เกิดความรู้ใหม่ๆเพิ่มเติมมากขึ้นเพียงนั้น ทั้งก่อให้เกิดประโยชน์แก่ตนเองด้วย
การจะฝึกนิสัยรักการอ่านให้ได้ครบทั้ง ๕ และฝึกด้วยต่อเนื่องนั้น คงจะต้องใช้เวลาและความตั้งใจจริงของผู้ฝึกด้วย ดังนั้น หากนักเรียนต้องการจะเป็นอ่านที่ดี และต้องการที่จะประสบความสำเร็จในชีวิตก็ควรจะเริ่มต้นฝึกฝนโดยไม่ท้อถ้อย
สรุป
การอ่านเป็นกระบวนการสำคัญอย่างยิ่งในการพัฒนาคน ถ้าคนไทยมีนิสัยรักการอ่านอ่านมาก อ่านอย่างสม่ำเสมอ ที่สำคัญคือ รู้จักเลือกอ่านหนังสือและสื่อสารสนเทศที่มีคุณค่า ก็จะทำให้เป็นผู้มีความรู้และสามารถใช้ที่ได้จากการอ่านมาพัฒนาคุณภาพชีวิต พัฒนาสังคมและพัฒนาประเทศชาติในที่สุด


ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม
มนุษย์ ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมมีความสัมพันธ์เกี่ยวเนื่องกันอย่างใกล้ชิด ทั้งนี้เพราะทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเป็นสิ่งที่เอื้ออำนวยประโยชน์ให้มนุษย์ได้รับปัจจัยสี่ ซึ่งได้แก่ อาหาร เครื่องนุ่งห่ม ยารักษาโรค และที่อยู่อาศัย แต่ขณะเดียวกันการกระทำของมนุษย์เองได้ส่งผลกระทบต่อสภาพของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และเนื่องจากความจำกัดของทรัพยากรธรรมชาติรวมทั้งการเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วของจำนวนประชากร ได้มีผลทำให้เกิด การแก่งแย่งในการใช้ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่มีอยู่ ยิ่งไปกว่านั้น มนุษย์ยังได้ใช้ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างฟุ่มเฟือยและไม่มีแผนการจัดการโดยมุ่งหวังผลกำไรสูงสุด
แต่เพียงอย่างเดียว จึงมีผลทำให้เกิดปัญหาความเสื่อมโทรมและการขาดแคลนทรัพยากรธรรมชาติรวมทั้งก่อให้เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อม หรือการแพร่กระจายของภาวะมลพิษจากขบวนการใช้ทรัพยากรธรรมชาตินั้น ๆ ด้วยประเทศไทยซึ่งเป็นประเทศกำลังพัฒนาได้มีการใช้ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อการเร่งรัดการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศโดยขาดความระมัดระวังและคำนึงถึงการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่เพียงพอมาโดยตลอด จึงมีผลทำให้ปัญหาความเสื่อมโทรมของทรัพยากรธรรมชาติและการแพร่กระจายของปัญหามลพิษ ได้ทวีความรุนแรงมากขึ้นและมีผลต่อคุณภาพชีวิตของประชาชน จนเห็นได้อย่าง
ชัดเจนในปัจจุบัน อาทิเช่น พื้นที่ป่าไม้ถูกบุกรุก ทำลาย จนมีสัดส่วนไม่เหมาะสมกับการรักษาสภาพความสมดุลของระบบธรรมชาติหรือระบบนิเวศ หรือภาวะน้ำเน่าเสียในแม่น้ำสายหลัก ทั้งแม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำแม่กลอง แม่น้ำท่าจีน และแม่น้ำบางปะกง หรือภาวะอากาศเสียในเขต กรุงเทพมหานคร ปริมณฑล และเมืองหลัก อันเนื่องมาจากควันพิษรถยนต์ การเกิดปฏิบัติการเรือนกระจก (โลกร้อน) เป็นต้น ดังนั้น เพื่อให้ ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็น ปัจจัยสำคัญของการพัฒนาประเทศมีสภาพที่พร้อมสนับสนุนการพัฒนาประเทศในอนาคตต่อไปนั้น การจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างถูกต้องและเหมาะสมตามหลักวิชาการจึงเป็นวิธีการที่จำเป็นที่จะต้องเร่งดำเนินการทั้งนี้เพื่อที่จะสงวนและรักษาทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมไว้ให้มนุษย์ได้พึ่งพาอาศัยอย่างยาวนานต่อไป รวมทั้งยังจะก่อให้เกิดความมั่นคงแก่ประเทศด้วย.
ปัจจัย ๔ ซึ่งได้แก่ อาหาร เครื่องนุ่งห่ม ยารักษาโรค ที่อยู่อาศัย เป็นสิ่งซึ่งมนุษย์ได้จากทรัพยากรธรรมชาติ ถ้ามนุษย์ใช้อย่างสิ้นเปลือง ก็จะทำให้เกิดความเสื่อมโทรม ไม่เพียงพอต่อความต้องการ
ความหมายของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
ความหมายของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ชัดเจน เราสามารถแยกการให้คำจำกัดความได้ ดังนี้ คือ
สิ่งแวดล้อม หมายถึง สิ่งต่าง ๆ ที่อยู่รอบตัวเรา ทั้งสิ่งที่มีชีวิต สิ่งไม่มีชีวิต เห็นได้ด้วย ตาเปล่า และไม่สามารถเห็นได้ด้วยตาเปล่า รวมทั้งสิ่งที่เกิดขึ้นโดยธรรมชาติและสิ่งที่มนุษย์เป็นผู้ สร้างขึ้น หรืออาจจะกล่าวได้ว่า สิ่งแวดล้อมจะประกอบด้วยทรัพยากรธรรมชาติและทรัพยากรที่มนุษย์สร้างขึ้นในช่วงเวลาหนึ่งเพื่อสนองความ ต้องการของมนุษย์นั่นเอง - สิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นโดยธรรมชาติ ได้แก่บรรยากาศ น้ำ ดิน แร่ธาตุ และสิ่งมีชีวิตที่ อาศัยอยู่บนโลก (พืช และสัตว์) ฯลฯ
- สิ่งแวดล้อมที่มนุษย์สร้างขึ้น ได้แก่ สาธารณูปการต่าง ๆ เช่น ถนน เขื่อนกั้นน้ำฯลฯ หรือระบบของสถาบันสังคมมนุษย์ที่ดำเนินชีวิตอยู่ ฯลฯ
ทรัพยากรธรรมชาติ หมายถึง สิ่งต่าง ๆ(สิ่งแวดล้อม) ที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติและมนุษย์ สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้ เช่น บรรยากาศ ดิน น้ำ ป่าไม้ ทุ่งหญ้า สัตว์ป่า แร่ธาตุ พลังงาน และกำลังแรงงานมนุษย์ เป็นต้น
โดยคำนิยามแล้วจะเห็นได้ว่า ทรัพยากรธรรมชาติทุกประเภทนั้นจะเป็นส่วนหนึ่งของสิ่งแวดล้อม แต่สิ่งแวดล้อมทุกชนิดไม่เป็นทรัพยากรธรรมชาติทั้งหมด ซึ่งอาจกล่าวสรุป ได้ว่าการที่จะจำแนกสิ่งแวดล้อมใด ๆ เป็นทรัพยากรธรรมชาตินั้น มีปัจจัยที่เกี่ยวข้องหลายประการ - ประการแรก เกิดจากความต้องการของ มนุษย์ที่จะนำสิ่งแวดล้อมมาใช้ให้เกิดประโยชน์ กับตนเอง - ประการที่สอง การเปลี่ยนแปลงตาม กาลเวลา ถ้ายังไม่นำมาใช้ก็เป็นสิ่งแวดล้อม แต่ ถ้านำมาใช้ประโยชน์ได้ก็จะกลายเป็นทรัพยากรธรรมชาติในช่วงเวลานั้น ๆ - ประการที่สาม สภาพภูมิศาสตร์และ ความห่างไกลของสิ่งแวดล้อม ถ้าอยู่ไกลเกินไปคนอาจไม่นำมาใช้ ก็จะไม่สามารถแปรสภาพเป็นทรัพยากรธรรมชาติได้
นอกจากนี้ ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจะอยู่รวมกันเป็นกลุ่มคละกันไปโดยอยู่ร่วมกันอย่างมีกฎ ระบบ ข้อบังคับทั้งที่เกิดขึ้น เองโดยธรรมชาติและทั้งที่มนุษย์กำหนดขึ้นมาการอยู่เป็นกลุ่มของสรรพสิ่งเหล่านี้ จะแสดงพฤติกรรมร่วมกันภายในขอบเขตและแสดงสรรพสิ่ง เหล่านี้จะเรียกว่า ระบบนิเวศ หรือระบบสิ่งแวดล้อม นั่นเอง
แม่น้ำที่มีวัชพืชน้ำมาก จนมีสัดส่วนไม่เหมาะสมกับการรักษาความสมดุลของระบบธรรมชาติ และกีดขวางการจราจรทางน้ำ

ความหมายของการจัดการธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
การจัดการ (Management) หมายถึง การดำเนินงานอย่างมีประสิทธิภาพในรูปแบบต่าง ๆทั้งด้านการจัดหา การเก็บรักษา การซ่อมแซมการใช้อย่างประหยัด และการสงวนรักษา เพื่อให้กิจกรรมที่ดำเนินการนั้นสามารถให้ผลยั่งยืน ต่อมวลมนุษย์และธรรมชาติ โดยหลักการแล้ว "การจัดการ" จะต้องมีแนวทางการดำเนินงานขบวนการ และขั้นตอน รวมทั้งจุดประสงค์ในการดำเนินงานที่ชัดเจนแน่นอนจากคำจำกัดความข้างต้น
น้ำเป็นทรัพยากรที่ให้ประโยชน์ มนุษย์สามารถสร้างฝายเพื่อเก็บกักน้ำไว้ใช้ให้ได้ประโยชน์สูงสุด
การจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม หมายถึง การดำเนินงานต่อทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งในด้านการจัดหาการเก็บรักษา การซ่อมแซม การใช้อย่างประหยัดและการสงวนรักษา เพื่อให้ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมนั้นสามารถเอื้ออำนวยประโยชน์แก่มวลมนุษย์ได้ใช้ตลอดไปอย่างไม่ขาดแคลนหรือมีปัญหาใด ๆ หรืออาจจะหมายถึง กระบวนการจัดการ แผนงานหรือกิจกรรมในการจัดสรรและการใช้ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเพื่อสนองความต้องการในระดับต่าง ๆ ของมนุษย์และเพื่อให้บรรลุเป้าหมายสูงสุดของการพัฒนาคือเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ - สังคมและคุณภาพ สิ่งแวดล้อม โดยยึดหลักการอนุรักษ์ด้วยการใช้ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างฉลาดประหยัด และก่อให้เกิดผลเสียต่อสิ่งแวดล้อมน้อย ที่สุดเท่าที่จะทำได้
แต่ถ้าเราจะกำหนดว่าสิ่งแวดล้อมที่เรากล่าวกันทั่ว ๆ ไปนั้น เป็นเรื่องของปัญหาภาวะมลพิษอันเนื่องมาจากการใช้ทรัพยากรธรรมชาติหรือจากผลของความก้าวหน้าของการพัฒนาแล้วเราก็สามารถให้คำจำกัดความแยกระหว่างการ จัดการทรัพยากรธรรมชาติและการจัดการสิ่งแวดล้อมได้ดังนี้
การจัดการทรัพยากรธรรมชาติ หมายถึง การดำเนินงานอย่างมีประสิทธิภาพต่อสิ่งที่เกิดขึ้น ตามธรรมชาติและให้ประโยชน์ต่อมนุษย์ ทั้งในด้านการจัดหา การเก็บรักษา การซ่อมแซมการใช้อย่างประหยัด รวมทั้ง การสงวนเพื่อให้ทรัพยากรธรรมชาตินั้นสามารถให้ผลได้อย่างยาวนานการจัดการสิ่งแวดล้อม หมายถึง การ ดำเนินงานอย่างมีประสิทธิภาพเพื่อทำให้สิ่งที่อยู่รอบ ๆ ตัวเรามีผลดีต่อคุณภาพชีวิต นั่นก็คือจะต้องดำเนินการป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาภาวะปลอดภัย นั่นเอง ปัจจุบันปัญหาขยะมูลฝอยเป็นปัญหาที่สำคัญ การนำสิ่งเหลือใช้มาประดิษฐ์ให้เกิดประโยชน์ขึ้นใหม่ จะเป็นวิธีการหนึ่งที่ทำให้ขยะลดน้อยลงการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจะต้องยึดหลักการทางอนุรักษ์วิทยาเพื่อประกอบ การดำเนินงานในการจัดการ ดังนี้ คือ๑) การใช้ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่ง แวดล้อมจะต้องเป็นไปอย่างสมเหตุสมผล ใช้อย่างฉลาดหรือใช้ตามความจำเป็น ไม่ใช้อย่างฟุ่มเฟือยและไม่เกิดการสูญเปล่า หรือเกิดการสูญเปล่า น้อยที่สุด๒) การประหยัดของที่หายากและของที่กำลังสูญพันธุ์๓) การปรับปรุง ซ่อมแซมสิ่งที่เสื่อมโทรมให้คืนสภาพก่อนนำไปใช้ เพื่อให้ระบบสิ่ง แวดล้อมดีขึ้น
ดอกไม้ ประดิษฐ์ หมายถึง
ดอกไม้ประดิษฐ์ หมายถึง สิ่งประดิษฐ์ขึ้นจากวัสดุมีลักษณะคล้ายรูปร่างดอกไม้ ที่ถูกผลิตขึ้นมาจากแรงงานฝีมือมนุษย์ เครื่องจักร หรืออุปกรณ์การผลิต โดยมีการใช้วัตถุดิบการผลิตจากธรรมชาติ หรือวัตถุดิบที่เกิดจากสังเคราะห์มาผลิตโดยผ่านขั้นตอนการประดิษฐ์ ดัดแปลง อบ ย้อม เผา เคลือบสารเคมี รวมทั้งทำการตกแต่งตัดต่อเติม เพื่อก่อให้เกิดความสวยงาม โดยดอกไม้ที่ประดิษฐ์ขึ้นมาอาจจะมีความเหมือนหรือไม่เหมือนธรรมชาติก็ได้ขึ้นกับวัตถุประสงค์การใช้งาน โดยคุณสมบัติของดอกไม้ประดิษฐ์ที่สำคัญคือ มีความคงทน ง่ายต่อการเคลื่อนย้ายและดูแลรักษา มีความสวยงาม สามารถนำไปใช้ในการประดับในโอกาสต่างๆ
การประดิษฐ์ดอกไม้ด้วยฝีมือมนุษย์เป็นศิลปะที่มีความละเอียดอ่อน มุ่งหวังที่จะดำรงความงดงามตามธรรมชาติของดอกไม้ให้คงอยู่ ไม่ร่วงโรย เหี่ยวเฉา การทำดอกไม้ประดิษฐ์ จึงเริ่มต้นที่การใช้ความสังเกต ศึกษา ค้นคว้า รูปลักษณะ สีสันตามธรรมชาติ ของดอกไม้แต่ละชนิด แต่ละประเภท แล้วถ่ายทอดการทำออกมาเป็นดอกไม้ประดิษฐ์ ดอกไม้ประดิษฐ์ อาจถือได้ว่าเป็นมรดกทางวัฒนธรรมของบางชนชาติ ที่มีการสืบทอดการประดิษฐ์ดอกไม้มายาวนาน
ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับการทำดอกไม้จากกระดาษสา การประดิษฐ์ดอกไม้จากกระดาษสา ได้ทำกันมาเป็นเวลานานแล้ว ปัจจุบันนี้มีการพัฒนาการแปรรูป กระดาษสาทั้งขนาด ชนิด และสีได้อย่างเหมาะสมและมีคุณภาพ พร้อมที่จะนำมา ทำผลิตภัณฑ์กระดาษสา ได้หลากหลาย โดยเฉพาะการนำมาประดิษฐ์ดอกไม้ ทำให้ดอกไม้กระดาษสา มีความสวยงามอย่างมีค่า ดอกไม้กระดาษสา สามารถประดิษฐ์ได้โดยวิธีง่าย ๆ ไม่ต้องใช้เครื่องมือ หรืออุปกรณ์ที่ยุ่งยาก และมีราคาแพง จึงใช้ต้นทุนในการผลิตต่ำ เหมาะที่จะนำไปประกอบอาชีพ หากได้ศึกษาและทำความเข้าใจได้รับการแนะนำ อย่างถูกวิธีก็จะสามารถประสบความสำเร็จ ในการทำดอกไม้จากกระดาษสาได้ในการจัดทำชุดวิชาอาชีพ การทำดอกไม้จากกระดาษสานี้ ประสงค์ให้ผู้เรียนประดิษฐ์ดอกไม้ เพื่อนำไปตกแต่งผลิตภัณฑ์กระดาษสาชนิดต่าง ๆ ขณะเดียวกันก็ได้เสนอแนะ การทำดอกไม้จากกระดาษสา เพื่อนำไปใช้ และนำมาจัดตกแต่งสถานที่ ทำแฟ้ม พวงดอกไม้แขวนฝาผนัง ปักแจกัน ทำช่อดอกไม้ประดับของใช้ต่าง ๆ เป็นต้น
การประดิษฐ์ดอกไม้จากกระดาษสาตามประโยชน์ใช้สอย
ก่อนที่จะทำการประดิษฐ์ดอกไม้จากกระดาษสา นอกจากเตรียมวัสดุอุปกรณ์ให้ครบแล้ว ยังมีส่วนสำคัญและจำเป็นที่จะต้องคำนึงถึง คือ จะต้องมีจุดมุ่งหมายในการทำดอกไม้ประดิษฐ์ว่าจะทำดอกไม้ชนิดไหน จะนำไปใช้ประโยชน์อย่างไร เช่น นำไปประดับเสื้อผ้า หมวก กระเป๋า หรือผลิตภัณฑ์กระดาษสา หรือจะนำไปใช้ตกแต่งสถานที่ ปักแจกัน เป็นต้น หากมีจุดมุ่งหมายและประโยชน์ใช้ที่แน่นอนแล้วก็จะสามารถตัดสินใจได้ว่าจะประดิษฐ์ดอกไม้ชนิดใด ทั้งนี้มีขั้นตอน ดังนี้1. การเลือกชนิดของดอกไม้2. การกำหนดขั้นตอนในการทำ3. การเตรียมวัสดุอุปกรณ์ในการทำ
1. การเลือกชนิดของดอกไม้ จะต้องเลือกดอกไม้ที่มีลักษณะดอก สี ขนาด เหมาะสมกับจุดประสงค์ที่จะนำไปใช้ เช่น นำไปตกแต่งผลิตภัณฑ์หรือของใช้บางอย่าง หรือนำไปประดับเสื้อผ้า ฯลฯ จะต้องใช้ดอกไม้ชนิดเป็นกลุ่มดอกเล็ก ๆ หรือเป็นช่อ หากนำไปปักแจกัน ก็ควรประดิษฐ์ดอกไม้ที่มีลักษณะเหมือนธรรมชาติ มีความประณีตในการประดิษฐ์แต่งแขวนด้วยดอกไม้ที่มีใบและกลีบเป็นฝอย เป็นต้น2. การกำหนดขั้นตอนในการทำ นอกจากจะเลือกชนิดของดอกไม้แล้ว การกำหนดขั้นตอนในการทำก็เป็นสิ่งจำเป็นไม่น้อยเหมือนกัน เป็นการกำหนดขั้นตอนในการนำดอกไม้ไปใช้ประโยชน์ที่แตกต่างกัน เช่น การประดิษฐ์ดอกไม้เพื่อไปประดับหรือตกแต่ง ไม่จำเป็นต้องเน้นรายละเอียดมากนักก็ได้ แต่ให้มีสีสะดุดตาเท่านั้น และหากนำไปปักแจกันหรือตกแต่งสถานที่ที่อยู่ใกล้สายตาก็จำเป็นต้องทำให้เหมือนของจริงมากที่สุด การนำดอกไม้ประดิษฐ์มาเป็นของชำร่วย หรือนำไปตกแต่งผลิตภัณฑ์ชนิดต่าง ๆ ต้องประดิษฐ์ให้มีความสวยงาม น่ารัก และให้มีสีกลมกลืนกับวัสดุที่นำไปแต่งหรือประดับ แต่ไม่ต้องให้รายละเอียดมากนัก เพราะต้องทำเป็นจำนวนมาก และต้องทำด้วยความรวดเร็ว ค่าใช้จ่ายน้อย เช่น อาจจะลดขั้นตอนโดยการไม่ใส่กลีบเลี้ยง หรือลดจำนวนใบลงก็ได้3. การเตรียมวัสดุอุปกรณ์ในการทำ การใช้ประดับตกแต่งผลิตภัณฑ์ไม่ต้องใช้อุปกรณ์ในการทำมาก เพราะไม่ได้ใช้ความละเอียดที่จะประดิษฐ์ให้คล้ายของจริงเท่าใดนัก ตรงกันข้ามถ้าประดิษฐ์เพื่อใช้ในการตกแต่งสถานที่ หรือปักแจกันก็จำเป็นต้องใช้เป็นอุปกรณ์ในการประดิษฐ์เพิ่มมากขึ้นเพื่อความประณีตและสวยงาม ซึ่งจะกล่าวโดยละเอียดในเรื่องการแนะนำวัสดุอุปกรณ์ต่อไป
วัสดุอุปกรณ์ที่ใช้ในการประดิษฐ์ดอกไม้จากกระดาษสา
1. กระดาษสาฟอกขาวชนิดหนา และบาง 9. พู่กัน2. ลวดเบอร์ 18, 20, 22, 24, 26, 28, 30 10. เครื่องรีดดอกไม้3. สีสำหรับย้อมกลีบดอกไม้ 11. หมอนรองรีด4. กาวลาเท็กซ์อย่างดี 12. ที่อัดกลีบกุหลาบ5. กระดาษทิชชู 13. กระจก6. กรรไกร 14. เหล็กแหลม7. ด้ายหลอดเบอร์ 60 15. ไม้กระดานสำหรับกลึงลวดขนาด8. สำลี 15 ด 25 นิ้ว
ข้อเสนอแนะ
1. ลวด ใช้สำหรับดามกลีบดอก กลีบเลี้ยง ใบ และทำก้านดอก ก้านช่อ มีขนาดแตกต่างกันดังนี้เบอร์ 18, 20 ใช้สำหรับเข้าช่อดอกเบอร์ 22 ใช้สำหรับเข้าก้านดอกไม้เบอร์ 24 หรือ 26 ใช้สำหรับดามใบดอกไม้เบอร์ 28 หรือ 30 ใช้สำหรับดามกลีบดอกไม้นอกจากลวดดังกล่าวแล้ว บางครั้งอาจจำเป็นต้องใช้ลวดดอกไม้ไหว และลวดทองแดงเส้นเล็ก ๆ ที่ทำจากสายไฟฟ้า และลวดจากมุ้งลวดด้วย2. สำลี ใช้ปั้นเป็นรูปโครงดอก รูปดอกตูม เสริมโคนดอกให้เป็นกระเปาะตามลักษณะธรรมชาติ3. กระดาษทิชชู ใช้สำหรับพันเสริมก้านดอกให้โตขึ้นดูเหมือนธรรมชาติของดอกไม้4. กาวลาเท็กซ์ ควรเลือกชนิดอย่างดี เหนียว ใช้เคลือบสำลีทำดอกตูม และทาบนกระดาษทิชชูเสริมก้าน5. กรรไกร ใช้สำหรับตัดกลีบดอก กลีบเลี้ยง และใบ6. สี ควรเลือกใช้สีสำหรับประดิษฐ์ดอกไม้โดยเฉพาะ ส่วนใหญ่เป็นสีผง เวลาใช้ต้องผสมน้ำอุ่น เวลาผสมสีเพื่อให้ได้สีที่เป็นธรรมชาติของดอกไม้จริง ควรใช้สีประเภทเดียวกันผสมกัน อย่าใช้สีต่างประเภทผสมกันวิธีผสมสี นำสีที่ต้องการผสม ผสมกับน้ำอุ่นที่ค่อนข้างร้อน การผสมสีแต่ละครั้ง ควรคำนึงว่าจะใช้สีนั้นมาก - น้อยขนาดไหน ไม่ควรผสมสีทิ้งไว้ครั้งละมาก ๆ เพราะสีบางชนิดอาจเปลี่ยนแปรได้7. พู่กัน ควรใช้ระบายสีละด้ามไม่ควรใช้ปนกันเพราะจะทำให้สีที่ต้องการเปลี่ยนไป (แต่ถ้าจำเป็นใช้ซ้ำกันก็ให้ล้างให้สะอาดและเช็ดด้วยกระดาษทิชชูให้แห้งจนไม่มีสีปรากฏบนกระดาษที่เช็ด จึงจะแน่ใจว่าไม่มีสีอื่นปนเปื้อนแล้ว จึงนำไปใช้กับสีอื่นต่อไปได้) ขนาดของพู่กัน ควรใช้เบอร์ 1, 2, 6, 8, 9 และ 10เบอร์ 1 ใช้ขีดเส้นหรือจุดในกลีบดอกเบอร์ 2, 6, 8 ใช้ระบายสีกลีบดอกขนาดเล็ก, กลางเบอร์ 9, 10 ใช้ระบายสีกลีบดอกขนาดใหญ่ และถ้ากลีบดอกขนาดใหญ่มากให้ใช้แปรงขนอ่อน8. กระจก/แผ่นเรียบอื่น ๆ (หรือจะใช้แผ่นฟอร์ไมก้าสีขาวแทนก็ได้) ใช้รองกลีบดอกระบายสี เมื่อนำกลีบดอกชุบน้ำแล้ว วางลงบนกระจก ๆ จะไม่ดูดซึมน้ำที่กลีบดอกให้แห้ง เวลาชุบน้ำกลีบดอกต้องให้อิ่มน้ำพอดี อย่าชุบให้โชกเพราะจะทำให้สีที่ระบายไหลซึมเข้าหากันจนเลอะ ให้พยายามไล่ฟองอากาศที่กลีบดอกออกให้หมด เพื่อมิให้กลีบดอกที่ย้อมมีรอยด่าง9. เหล็กแหลม ใช้สำหรับเจาะกลีบดอก10. ไม้กระดาน ใช้สำหรับคลึงเส้นลวดในการเสริมก้านดอกให้เรียบ และแน่น โดยใช้การทากาวลาเท็กซ์บนเส้นลวด แล้วพันด้วยกระดาษทิชชูทากาวลาเท็กซ์
หลักการจัดดอกไม้
สิ่งที่ต้องเตรียม
1. ภาชนะสำหรับจัด หมายถึง ภาชนะสำหรับรองรับดอกไม้มีหลายชนิด เช่น แจกันรูปทรงต่าง ๆ เช่น กระบุง ตะกร้า ชะลอม
2. ที่สำหรับรองภาชนะ เมื่อจัดดอกไม้เสร็จควรมีสิ่งรองรับเพื่อความสวยงาม ความโดดเด่นของแจกัน เช่นไม้ไผ่ขัดหรือสานเป็นแพ กระจก แป้นไม้
3. กรรไกรสำหรับตัดแต่ง
4. เครื่องใช้ต่าง ๆ เช่น ลวด ทราย ดินน้ำมัน กระดาษสี ฟลอร่าเทปสีเขียว ก้านมะพร้าว ลวดเบอร์ 24 และ เบอร์ 30
5. ดอกไม้ประดิษฐ์พร้อมใบไม้สำเร็จ
6. เครื่องประกอบตกแต่ง เช่น กิ่งไม้ ขอนไม้ ตุ๊กตา ขดลวด เป็นต้น

ดอกไม้ที่นิยมใช้
1. เลือกดอกไม้ตามวัตถุประสงค์สำหรับงานนั้น ๆ
2. ความทนทานของดอกไม้ประดิษฐ์
3. ขนาด เลือกให้เหมาะกับภาชนะ สถานที่ตั้ง และแบบของการจัด
4. การเลือกสี ต้องดูฉากด้านหลังและจุดประสงค์ว่าต้องการ กลมกลืน หรือตัดกัน
5. ความนิยม เช่นดอกกุหลาบนิยมใช้ในงานมงคล ดอกบัวใช้บูชาพระ
สิ่งควรคำนึงในการจัด ดอกไม้
1. สัดส่วน ควรให้ความสูงของดอกไม้พอดีกับแจกันเช่น แจกันทรงสูง ดอกไม้ดอกแรกควรสูง เท่ากับ 1.5 - 2 เท่าของความสูงของแจกัน สำหรับแจกันทรงเตี้ยดอกไม้ดอกแรกควรสูง เท่ากับ 1.5 - 2 เท่าของความกว้างของแจกัน
2. ความสมดุยลควรจัดให้มีความสมดุลไม่หนักหรือเอียงข้างใดข้างหนึ่ง
3. ความกลมกลืน เป็นหัวใจของการจัดต้องมีความสัมพันธ์ทุกด้านตั้งแต่ขนาดของแจกัน ความเล็กและใหญ่ของดอกไม้ ความมากน้อยของใบที่นำมาประกอบ
4. ความแตกต่าง เป็นการจัดที่ทำให้สวยงามสะดุดตา เช่นจัดดอกไม้เล็ก ๆ และมีดอกใหญ่เด่นขึ้นมา
5. ช่วงจังหวะ ช่วยให้ดอกไม้มีชีวิตมากขึ้น ควรไล่ขนาด ดอกตูม ดอกแย้ม จนถึงดอกบาน
6. การเทียบส่วน เป็นความสัมพันธ์กับส่วนต่าง ๆ เช่น ดอกไม้ดอกเล็กควรใส่แจกันใบเล็ก ตลอดจนที่รองแจกันมีขาดเล็กด้วย

รูปแบบการจัดดอกไม้
การจัดดอกไม้โดยทั่ว ๆ ไปแบ่งออกเป็น 3 แบบ ดังนี้
1. การจัดดอกไม้เลียนแบบธรรมชาติ ( เพื่อใช้เอง) เป็นการจัดดอกไม้แบบง่าย ๆ เพื่อประดับตกแต่งบ้าน โดยอาศัยความเจริญเติบโตของต้นไม้ ดอกไม้ กิ่งไม้ นำมาจัดลงภาชนะ โดยใช้กิ่งไม้ขนาดต่าง ๆ 3 กิ่ง การจัดดอกไม้แบบนี้ นิยมนำหลักการจัดดอกไม้จากประเทศญี่ปุ่นมาประยุกต์
2. การจัดดอกไม้แบบสากล นิยมจัด 7 รูปแบบ คือ รูปทรงแนวดิ่ง ทรงกลม ทรงสามเหลี่ยมมุมฉากทรงสามเหลี่ยมด้านเท่า ทรงพระจันทร์คว่ำ ทรงพระจันทร์เสี้ยว ทรงตัวเอส
3. การจัดดอกไม้แบบสมันใหม่ เป็นการจัดดอกไม้ที่มีรูปแบบอิสระ เน้นความหมายของรูปแบบบางครั้งไม่จำเป็นต้องใช้ดอกไม้แต่อาจใช้วัสดุหรือภาชนะเป็นจุดเด่นเป็นการสร้างความรู้สึกให้ผู้พบเห็น การจัดดอกไม้แบบนี้ยังอาศัยหลักเกณฑ์ สัดส่วนและความสมดุลด้วย
การเตรียมดอกไม้ก่อนจัด
1. ดอกไม้ ใบไม้ ที่ซื้อมาจากตลาดต้องนำมาพักไว้ในน้ำอย่างน้อย 45 นาที - 2 ชั่วโมง
2. นำดอกไม้มาลิดใบที่ไม่สวย เหี่ยว หรือไม่จำเป็นออกไป
3. ตัดก้านดอกไม้ใต้น้ำ หากก้านไม่แข็งให้ตัดตรง หากก้านแข็งให้ตัดเฉียงประมาณ 1 นิ้ว
4. แช่ดอกไม้พักไว้ในน้ำมาก ๆ
5. ดอกไม้ที่ซื้อมาค้างคืนให้ห่อด้วยใบตองหรือกระดาษ นำไปแช่ไว้ในถังน้ำ เพื่อไม่ให้ดอกบานเร็ว

หลักทั่วไปในการจัดแจกันดอกไม้
1. หน้าที่และประโยชน์ใช้สอย ก่อนจัดควรจะทราบวัตถุประสงค์ในการจัดตกแต่งก่อนว่า จะใช้ในงานอะไร และจะจัดวางที่ไหน เช่น วางกลางโต๊ะ วางมุมโต๊ะ ชิดผลัก หรือแจกันติดผนัง เป็นต้น และควรดูด้วยว่า ลักษณะของห้องที่จะจัดวางเป็นห้องลักษณะแบบใด ทรงใด และขนาดเล็ก ปานกลางหรือใหญ่ เพื่อเราจะได้เลือกแจกันและดอกไม้ที่เหมาะสมกับห้องนั้น ๆ ด้วย
2. สัดส่วน สัดส่วนเป็นเรื่องสำคัญมาก ที่จะกำหนดว่าแจกันที่จัดเสร็จจะสวยหรือไม่สวย ถ้าสัดส่วนไม่สมดุลแจกันที่จัดออกมาก็ไม่สวย สิ่งที่ต้องคำนึง
2.1 ภาชนะทรงเตี้ย ความสูงที่จัดควรเป็น 1.5-2 เท่า ของความกว้างของภาชนะ
2.2 ภาชนะทรงสูง ความสูงที่จัดควรเป็น 1.5-2 เท่า ของความสูงของภาชนะ
3. การเทียบส่วน ระหว่างดอกไม้กับแจกัน, แจกันกับขนาดของห้อง
4. ความสมดุล เป็นความถ่วงดุล เช่น ซ้ายขวาเท่ากัน หรือ สองข้างไม่เท่ากันแต่หนักไปทางใดทางหนึ่งก็ได้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์ของผู้จัด
5. การเลือกสี เส้นและขนาดให้แตกต่าง กัน เช่น สีกลาง อ่อน เส้นที่โค้งเรียว ขนาดดอกมีใหญ่เล็กเป็นต้น
6. ความกลมกลืน คือ การเข้ากันอย่างสอดคล้องระหว่างองค์ประกอบต่าง ๆ
7. ความแตกต่าง เช่น สีของดอก ใบ และภาชนะที่มีสีแตกต่างกัน แต่ความแตกต่างไม่ควรเกิน 20%
8. การสร้างจุดเด่น คือ จัดให้มีตัวเด่น ตัวรอง และให้มีการส่งเสริมกันและกัน
การจัดดอกไม้สำหรับงานเเต่งงาน
หลักในการจัดดอกไม้ในงานเเต่งงาน

ดอกไม้ในงานแต่งงาน เปรียบได้กับเครื่องประดับชิ้นสวยของงาน ที่เจ้าภาพจัดเตรียมไว้ต้อนรับสร้างความประทับใจให้กับแขกเหรื่อ และยังเป็นอีกส่วนหนึ่งที่จะช่วยทำให้ความทรงจำที่เก็บไว้ในภาพถ่ายงดงาม
นักจัดดอกไม้ได้เห็นพ้องต้องกันว่า การจัดดอกไม้ในงานแต่งงานไม่ได้ยึดถือเรื่องเทรนด์เป็นสำคัญ ขึ้นอยู่กับฤดูกาลของดอกไม้และความชอบของคู่บ่าว-สาวมากกว่า ดังนั้นก่อนจะไปพบนักจัดดอกไม้ คุณควรทำการบ้านโดยการพูดคุยตกลงกันว่าด้วยประเด็นต่างๆดังต่อไปนี้
ต้องมีคอนเซ็ปต์ชัดเจนในใจ ว่าจะจัดงานแต่งงานแบบไหน ชอบดอกไม้โทนสีอะไร สไตล์ไหน ทุกวันนี้คนนิยมจัดดอกไม้โทนสีขาว-เขียว เพราะเป็นสีที่ปลอดภัยหายห่วง ดูเรียบร้อยและโก้หรู แต่เวลาถ่ายรูปออกมาสีอาจจืดชืดไป ถ้าคุณชอบสีสันสดใส แนะนำให้ลองจัดธีมสีแดง-ชมพู หรือสีเหลือง-ส้ม โทนสีเหล่านี้มีดอกไม้ให้เลือกใช้ได้มากมายหลายชนิด
เมื่อเห็นพ้องต้องกันแล้ว อย่าลืมถามความเห็นชอบของครอบครัวด้วย โดยเฉพาะญาติผู้ใหญ่ที่ช่วยซัพพอร์ทงบประมาณการจัดงานแต่งงานให้คุณ หากขัดแย้งกันควรพูดคุยให้เข้าใจ ดีกว่าต้องมารื้อหน้างาน เพราะจะเป็นเรื่องวุ่นวายมาก
หาสถานที่จัดงานให้เรียบร้อยเสียก่อน คอนเซ็ปต์ของดอกไม้ที่คุณคิดไว้ควรไปกันได้กับสไตล์ของห้องที่จะจัดงาน เช่น ถ้าห้องหรูหรา ใหญ่โต แต่อยากจัดดอกไม้สไตล์มินิมัลลิสม์คงไม่เหมาะ เพราะดอกไม้จะจมหายไปทันที
งบประมาณ ขึ้นอยู่กับว่าเจ้าบ่าวเจ้าสาวให้ความสำคัญกับดอกไม้ในงานแต่งงานมากแค่ไหน นักจัดดอกไม้ส่วนใหญ่ชอบให้ลูกค้าบอกงบประมาณในใจมาก่อน เพราะจะทำงานได้ง่ายขึ้น รู้ว่าควรจะครีเอทมากแค่ไหน เพราะถ้าให้คิดไปก่อนโดยไม่บอกงบประมาณ บางคนอาจมีไอเดียบรรเจิด อยากสร้างสรรค์งานของคุณให้สวยที่สุด แต่สุดท้ายก็ทำไม่ได้ เพราะติดเรื่องงบประมาณ ทำให้เสียเวลากันทั้งสองฝ่าย
เมื่อทราบงบประมาณคร่าวๆ นักจัดดอกไม้จะดีไซน์การจัดดอกไม้เลือกชนิดของดอกไม้ที่จะใช้ แล้วกลับมาคุยกันอีกครั้ง หากคุณชอบใจและตกลงราคากันได้ จะต้องเตรียมสตางค์ไว้เป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานล่วงหน้าด้วย จำนวนเงินจะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับเงื่อนไขที่จะตกลงกัน
ควรมีเวลาเตรียมงานล่วงหน้าอย่างน้อยหนึ่งเดือน เพราะนักจัดดอกไม้จะต้องไปดูขนาดห้องที่จะจัดงานเพื่อออกแบบและคิดคำนวณว่าจะต้องใช้ดอกไม้มากน้อยแค่ไหนถึงกำลังสวย แล้วจึงสั่งดอกไม้ ดอกไม้บางชนิดต้องนำเข้าจากต่างประเทศ แล้วยังต้องเตรียมงานโครงสร้างต่างๆ เช่น โครงเหล็กซุ้มประตู ทำ backdrop หรือฉากหลังไว้สำหรับถ่ายรูป
ประเภทของการจัดดอกไม้
จัดดอกไม้สไตล์ Topiary

โทปิอารี่ (Topiary) เป็นศิลปะการตกแต่งไม้พุ่มให้เป็นรูปทรงต่างๆ โดยเฉพาะรูปทรงเรขาคณิต เช่น รูปทรงกลม รูปสามเหลี่ยม หรือรูปสี่เหลี่ยม รวมทั้งการตกแต่งให้เป็นรูปคน สัตว์ หรือสิ่งของต่างๆ ซึ่งศิลปะการตกแต่งดังกล่าวนี้เป็นที่นิยมตั้งแต่ยุคโบราณจนกระทั่งถึงปัจจุบันนี้และต่อมานักจัดดอกไม้ก็ได้นำศิลปะการจัดโทปิอารี่มาใช้ในการจัดดอกไม้ด้วย โดยโทปิอารี่ที่จัดง่ายที่สุดคือรูปทรงกลม และดอกไม้ที่จัดโทปิอารี่ได้สวยที่สุดก็คือ ดอกกุหลาบนั่นเอง
การจัดดอกไม้รวม

การจัดดอกไม้รวมให้ออกมาดี คือ ดอกไม้แต่ละแบบต้องส่งเสริมซึ่งกันและกัน และการส่งเสริมกันนี้ จะทำให้ความงามของดอกไม้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น
การจัดดอกไม้สีโทนร้อน

สีโทนร้อนได้แก่ สีแดง สีส้มหรือสีแสด สีเหลือง สีม่วง เป็นต้น สีโทนร้อนเป็นสีที่แสดงถึงพลัง ความบ้าคลั่ง ความตื่นเต้นเร้าใจ การเย้ายวน ความกระฉับกระเฉง และไม่พ่ายแพ้ง่าย ๆ ถ้าคุณจะจัดดอกไม้โทนร้อนในบ้าน ควรเลือกมุมที่แสงแดดส่องถึง การจัดลำดับสีโทนร้อนมีความหลากหลาย ที่จะทำให้คุณมีความคิดสร้างสรรค์แบบไม่จำกัด
การจัดดอกไม้สีโทนอ่อน

สีโทนอ่อนเป็นสีเย็นตา เช่น สีขาว มักใช้ในโอกาสสำคัญเกี่ยวกับทางศาสนา เช่น งานแต่ง ดอกไม้สีขาวเป็นทางเลือกคลาสสิค ความงามตามธรรมชาติของดอกไม้สีอ่อน ทำให้ดูดีขึ้นได้ด้วยการเลือกใบอย่างชาญฉลาด ภาชนะที่ใส่ถ้าเป็นดอกสีขาว ภาชนะอาจจะเลือกให้อยู่ในโทนเดียวกันก็ได้ จะให้ความงามที่สบายตา และดูมีรสนิยม
การจัดดอกไม้ขนาดใหญ่

การจัดดอกไม้ขนาดใหญ่ ต้องการภาชนะที่ใหญ่และหนัก ภาชนะที่ใช้อาจจะเป็นแจกันขนาดใหญ่ โอ่งขนาดเล็กหรือกลาง หรือง่าย ๆ ถังสีที่คุณใช้แล้ว ทำความสะอาดสักหน่อย ก็จะให้ความสวยที่ไม่แพ้กับแจกันราคาแพง ยิ่งเป็นการจัดดอกไม้ใหญ่เท่าไร ความสำคัญของภาชนะก็ยิ่งเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากเป็นจุดสนใจด้วย
การจัดดอกไม้สมัยใหม่

การจัดดอกไม้แบบสมัยใหม่ ดูเหมือนจะได้รับอิทธิพลมาจากญี่ปุ่นเป็นอันมาก โดยมีอิทธิพลของจิตรกรเป็นส่วนประกอบด้วย เพราะลักษณะรูปแบบในการจัดดอกไม้ตามแบบสมัยใหม่ มีทีท่าส่อไปในรูปแบบที่คำนึงถึงความง่าย ความสะดวก เช่นเดียวกับการจัดดอกไม้แบบญี่ปุ่น ไม่พิถีพิถันในการเลือกสรรวัสดุการจัดและอุปกรณ์แต่อย่างได หากแต่ว่าได้เน้นหนักไปในทางที่จะต้องทำให้ได้ส่วนสัมพันธ์และรับกันกับแบบของเครื่องเรือนหรือลักษณะและรูปแบบของห้องที่นำมันไปประดับเป็นส่วนประกอบมากกว่าอื่นใดทั้งหมด
ความสวยงามละลานตาตามคติเก่าๆ ในการจัดดอกไม้ แทบจะไร้ความหมาย สำหรับการจัดดอกไม้ตามแบบสมัยใหม่นี้ เหตุนี้เอง หลักสำคัญในการจัดดอกไม้แบบนี้จึงขึ้นอยู่กับแนวหรือเส้นของรูปพรรณ อันเป็นผลทำให้ไม้และใบไม้ได้เข้ามามีบทบาทสำคัญยิ่งกว่าดอกไม้เสียด้วยซ้ำ
การคำนึงในเรื่องของสีได้เป็นสิ่งที่พึงระมัดระวังเป็นกรณีพิเศษทีเดียว เพราะรสนิยมของคนในสมัยใหม่นั้น ส่วนมากมักไม่ใคร่ชอบสีที่ตัดกันอย่างแท้จริง หากแต่ชอบสีที่กลมกลืนคล้ายคลึงกันมากกว่า เช่น ห้องสีแดง ก็มักจะจัดดอกไม้สีแดงแก่หรืออ่อน หรือสีชมพู หรือสีส้ม อย่างใดอย่างหนึ่งหรือทั้งสองสามอย่างควบคู่กัน ทั้งนี้ต้องแล้วแต่รสนิยมของแต่ละบุคคล ยิ่งไปกว่านั้น แม้การเลือกสีจะเป็นสีที่มีโทนเดียวกัน แต่ก็ยังต้องคำนึงถึงน้ำหนักของสีอีกด้วย กล่าวคือ มักจะไม่นิยมใช้สีที่สดกว่า หรือแก่กว่ากันจนเกินไป ถ้าสมมุติว่า ห้องนั้นเป็นสีอ่อนหรือสีจางๆ ก็มักจะต้องใช้ดอกไม้สีอ่อนหรือจางด้วย จะเข้มกว่าหรือจางกว่าก็เพียงเล็กน้อย ไม่แตกต่างกันจนเกินไปนัก
การจัดดอกไม้แบบสมัยใหม่นั้น
เราอาจจะแบ่งออกได้เป็น 3 ประเภท คือ
แบบโมเดิร์น หรือแบบทันสมัย
แบบแอ๊บสแตร็ค หรือแบบคำนึงถึงสัญลักษณ์มากกว่าความสมจริง
แบบแฟนซี หรือแบบที่ดูแปลกๆ พิสดาร
ลักษณะ วิธีการ และรูปแบบ การจัดดอกไม้แบบสมัยใหม่ทั้ง 3 ประการนั้น ส่วนใหญ่มิได้แตกต่างกันมากนัก เพราะหลักการสำคัญที่ยึดถืออยู่ก็คือ เส้นหรือแนวนั้นเอง จนอาจจะกล่าวได้ว่า เป็นการจัดแบบเดียวกัน แต่ที่แยกประเภทเอาไว้นั้น ก็เพื่อที่จะให้เป็นที่เห็นได้ชัดเจนขึ้น และเป็นการสะดวกที่จะทำความเข้าใจกันในโอการต่อไปเท่านั้น
งานศิลปะนั้น ไม่ว่าจะเป็นศิลปะประเภทใด ต่างก็ต้องการรูปแบบที่สร้างสรรค์ เป็นตัวของตัวเอง ไม่ลอกเลียนแบบใคร ทั้งนี้หากเราสร้างสรรค์งานศิลปะได้แต่เพียงวิธีที่ต้องลอกเลียนแบบเสียแล้ว งานก็ย่อมไม่ก้าวหน้า ความสามารถก็จะมีอยู่ในขอบเขตที่จำกัด ถ้าเปรียบเทียบ ก็จะเหมือนกับนกแก้วหรือนกขุนทองที่พูดได้ก็เฉพาะถ้อยคำที่เจ้าของสอนเอาไว้ให้พูดเท่านั้น จะคิดหรือพูดคำอื่นๆ ไม่ได้ ซึ่งมันไม่ผิดอะไรกับเครื่องจักร ดังเช่นวิทยุ โทรทัศน์ ที่จะเกิดภาพหรือมีเสียงก็แต่เฉพาะที่คนจัดรายการส่งออกอากาศเท่านั้น คนที่รับฟังหรือชมอยู่ แม้จะอยากชมสิ่งแปลก ก็ไม่สามารถฟังหรือชมได้ดังใจปรารถนา ค่าของมันก็ลดน้อยลง คราวนี้ถ้าเรามาลองสมมุติกันดูว่า หากเรามีโทรศัพท์ที่สามารถจะให้ภาพให้เสียงได้ตามที่ใจเราต้องการจะได้เห็นได้ยิน หรือมีวิทยุที่สามารถส่งเสียงเพลงที่เราต้องการฟังได้ทุกขณะทุกเวลา วิทยุหรือโทรทัศน์เครื่องนั้นๆ จะกลายเป็นของที่มีค่าเลอเลิศเพียงใดเห็นจะไม่จำเป็นต้องพูดถึงกันอีก
***จบ***
สมาชิกในกลุ่ม
1) เด็กหญิง กาญจรินทร์ ศรีวังสุขวิพัฒน์ ชั้นม.2/1 เลขที่13
2) เด็กหญิง ชลธิชา นาคสุ่น ชั้นม.2/1 เลขที่15
3) เด็กหญิง บุษยามล รังหอม ชั้นม.2/1 เลขที่19
4) เด็กหญิง สุวนันท์ นันทะแสง ชั้นม.2/1 เลขที่28
5) เด็กหญิง อารยา ชาญกล้า ชั้นม.2/1 เลขที่ 31
6) เด็กหญิง ศิริลักษณ์ ไกรสูนย์ ชั้นม.2/1 เลขที่ 39